top of page

การสำรวจความผูกพันพนักงาน ค่านิยมองค์กร และความพร้อมของพนักงานในการขับเคลื่อนองค์กร

               การวางระบบ สร้างกติกาให้พนักงานปฏิบัติ องค์กรอาจได้ตามที่กำหนด แต่ไม่ได้ศักยภาพสูงสุดที่พนักงานมี “การสร้างศรัทธาและครองใจพนักงาน” มีความสำคัญยิ่งกว่า แต่จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและหาปัจจัยที่เป็นเชิงหลักการ 

       

               หมดเวลาการบริหารคนด้วยความรู้สึก ปราศจากข้อมูล การวิเคราะห์ พยากรณ์แบบเสนอทางเลือก (Analytic) องค์กรควรรู้ปัจจัยใดมีผลต่อความศรัทธาและความผูกพันของพนักงาน ด้วยค่าน้ำหนักปัจจัยเท่าไร และภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ หากองค์กรรับรู้สิ่งที่เป็นปัจจัยที่แท้จริง จะดีแค่ไหนที่องค์กรเลือกดำเนินการพัฒนาในเรื่องที่ควรทำได้อย่างชัดเจนตรงประเด็น ยิ่งในสภาวะสถานการณ์วิกฤต Covid-19 หลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานทุกองค์กร ประกอบกับองค์กรยุคใหม่ต้องการการดำเนินธุรกิจเพื่อผลตอบแทนทางการเงิน หรือด้านเศรษฐกิจ แล้วยังแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย  ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (PIM HR Excellence Center) ได้พัฒนาตัวแบบเบื้องต้นจากงานวิจัยเพื่อการสร้างความผูกพันพนักงานกับองค์กรแสดงด้วยภาพต่อไปนี้

  1. ส่วนการสร้างความผูกพันต่อองค์กร (Employee Engagement)

EE1.jpg

          จากภาพดังกล่าวข้างต้นมีการพัฒนากรอบความคิดในการดำเนินโครงการส่วนที่ 1 การศึกษาระดับความผูกพันของพนักงาน และปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพัน แสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานขององค์กรและบุคลากรในวิกฤต Covid-19, แนวโน้มหลัง Covid-19 ที่สำคัญ คือ

1. ส่วนปัจจัยสร้างประสบการณ์ และความผูกพัน (Employee Experience and Engagement Drivers) ประกอบด้วย 4 ส่วนย่อย ๆ คือ

                   1.1 การได้ทำงานที่มีคุณค่า (Meaningful Work) ประกอบด้วย

  • ทำงานตรงกับความชอบ ความรู้ ความสามารถ

  • การให้อำนาจตัดสินใจ

  • มีอิสระ และคล่องตัว

  • มีขอบข่ายงานที่ชัดเจน

  • ความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน

  • ปริมาณงาน

  • มีกระบวนการทำงาน เครื่องมือ อุปกรณ์

  • งานที่มีความหลากหลาย (งานประจำกับงานโครงการ)

  • งานใหม่และงานไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้

  • งานที่ท้าทาย

  • ความเสี่ยง                  

1.2 ระบบการบริหารและพัฒนาบุคลากร (People System) ประกอบด้วย

  • ระบบการบริหารผลงาน (ตั้งเป้าหมาย ติดตาม ประเมินผล)

  • ค่าตอบแทน (เงินเดือน โบนัส)

  • สวัสดิการ

  • การดูแลสุขภาวะ (Well-Being) (สุขภาพกาย-ใจ กายภาพ การเงิน ครอบครัว สังคม ประชาคม การได้ทำสิ่งที่ชอบ-มีคุณค่าควบคู่กับการทำงาน) 

  • การยกย่อง ชื่นชมผลงาน

  • ความก้าวหน้าในงาน

  • ระบบการพัฒนาและแหล่งความรู้ที่ช่วยในการพัฒนาในงานและทักษะอื่นที่สนใจ

  • ระบบรักษาคนเก่ง-ดี

                   1.3 ความสัมพันธ์และการได้รับการสนับสนุน (Supportive Relationships) ประกอบด้วย

  • มีบรรยากาศการทำงานในทีมแบบเป็นมิตร

  • มีความร่วมมือสื่อสารในทีมดี

  • มีการสื่อสารจากผู้บริหาร

  • การได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างานโดยตรง

  • ประสานความร่วมมือกันระหว่างทีม/หน่วยงานดี

  • การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างเพื่อนร่วมงาน

  • ความเชื่อถือ(Trust) ต่อผู้บริหารระดับสูง

  • การมีและได้รับการสนับสนุนจากสังคม ชุมชน ประชาคม

                   1.4 สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี (Positive Organization Environment)ประกอบด้วย

  • การสร้างวัฒนธรรมองค์กร

  • ความมั่นคงขององค์กร

  • ชื่อเสียงขององค์กร

  • การได้แสดงออกถึงคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม

  • การได้ร่วมรับรู้และตัดสินใจในเรื่องสำคัญของงาน

  • ช่องทางในการสื่อสาร ข่าวสารภายใน

  • สภาพแวดล้อมอื่นๆ ในการทำงาน

2. การวัดความผูกพันต่อองค์กร (Engagement Measurement) คือ การสร้างตัววัดสองด้าน ได้แก่

2.1 แสดงความรู้สึกต่อองค์กร (Emotional Engaged) ประกอบด้วย

  • ความรู้สึกภาคภูมิใจในงานและองค์กร

  • รู้สึกมีพลังในการมาทำงานทุกวัน

  • มีความตื่นเต้นกับงาน

  • มีความสุขกับการทำงาน

  • มีความรู้สึกเป็นเจ้าของงาน

  • ได้รับการดูแล จากองค์กรแบบเข้าใจ

  • รู้สึกว่าตนมีคุณค่ากับองค์กร

2.2 แสดงพฤติกรรมการปฏิบัติงาน (Express Engaged) ประกอบด้วย

  • การทุ่มเทให้กับการทำงานจนสำเร็จ

  • ใช้ศักยภาพสูงสุดในงาน

  • เสนอ และทำในสิ่งที่ดีที่สุด

  • การมีส่วนร่วมในการทำงาน

  • ชื่นชมองค์กร

  • อาสา ช่วยเหลือและให้การสนับสนุน

  • อยู่ ไม่ทิ้งองค์กรไม่ว่าเป็นสถานการณ์ใด

3. ผลลัพธ์ของความผูกพัน (Engagement Output & Outcome) ต้องทำให้เกิดผลงานที่ดี 3 ระดับคือ

3.1 ผลการปฏิบัติงานของแต่ละบุคคล (Personal Performance) ประกอบด้วย

  • การปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

  • ได้รับการพัฒนาความสามารถในงานและทักษะอื่นที่ต้องการ

3.2 ผลการปฏิบัติงานของทีม (Team Performance) ประกอบด้วย

  • ทีม/หน่วยงานปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมาย

  • ทีม/หน่วยงานมีการยกระดับความสามารถสูงขึ้น

3.3 ผลการดำเนินงานของบริษัท (Company Performance) ประกอบด้วย

  • บริษัทมีผลประกอบการดี

  • บริษัทมีผลงานด้านลูกค้าที่ดี 

  • บริษัทได้รับการยอมรับ มีภาพลักษณ์ที่ดีต่อภายนอก

  • บริษัทได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

  • เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ

  • เป็นบริษัทที่ดึงดูดคนเก่งมาร่วมงานได้ดี

             

การใช้ตัวแบบขั้นต้นให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรมีขั้นตอนการดำเนินการแสดงได้ดังภาพนี้

EE2.jpg

            จากภาพขั้นตอนในการดำเนินการส่วนที่ 1 การศึกษาระดับความผูกพันของพนักงาน และปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันของพนักงานในภาพรวม และจำแนกตามการแบ่งกลุ่มพนักงานในรูปแบบต่างๆ (Employee Segmentation) เพื่อนำปัจจัยที่ส่งผลไปจัดทำแผนยกระดับความผูกพัน มีดังนี้

1. ศึกษาข้อมูลนโยบาย และยุทธศาสตร์องค์กร

          1.1 ศึกษาสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์การเภสัชกรรมซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น วัฒนธรรมองค์กร ภาวะผู้นำ ฯลฯ เป็นต้น

          1.2 ศึกษากลยุทธ์ทางธุรกิจ การจัดโครงสร้างองค์กร ระบบการบริหารจัดการองค์กร นโยบายและระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

2. การศึกษา วิเคราะห์เพื่อจัดทำตัวแบบความผูกพันของพนักงาน

               ใช้วิธีเก็บและรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ ตาม Model การสร้างความผูกพันของพนักงานในขั้นต้น ด้วยวิธีการ

          2.1 สัมภาษณ์เชิงลึก ผู้บริหาร

              ที่ปรึกษาดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหาร (Management In-depth Interview) เพื่อเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพในระดับกลยุทธ์ขององค์กรและระดับหน่วยธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกและภายในองค์กรที่มีผลกระทบต่อเป้าหมายการปฏิบัติงานขององค์กร ต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและความผูกพันต่อองค์กร

          2.2 สนทนากลุ่มเป้าหมายที่กำหนด (Focus Group)

              ที่ปรึกษาดำเนินการสนทนากลุ่มเป้าหมาย (Focus Group Discussion) ที่กำหนดขึ้นจากเหตุผลทางการบริหารและกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ให้ทราบสภาพความเป็นจริงในการปฏิบัติงาน ทัศนคติและความเชื่อของพนักงานซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานต่างๆ

เมื่อได้สรุปผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารและการสนทนากลุ่มเป้าหมายที่กำหนดแล้ว ที่ปรึกษาจะทำการปรับตัวแบบ (Model) จากตัวแบบขั้นต้นให้เป็นตัวแบบเฉพาะขององค์กร เพื่อนำไปออกแบบคำถามสำหรับสำรวจความผูกพันต่อไป

3. การจัดทำแบบสำรวจ (Survey Model) และการทดสอบคุณภาพแบบสำรวจ

          การจัดทำแบบสำรวจมีขั้นตอนดำเนินการดังนี้

          3.1 การสร้างแบบสำรวจความผูกพันจากตัวแบบเบื้องต้น (Interim Employee Engagement Survey Model) คือ

          3.1.1 ปัจจัยสร้างความผูกพัน (Engagement Drivers) ซึ่งมีการปรับให้เหมาะสมกับองค์กรแล้ว ประกอบด้วย 4 ส่วนย่อย ๆ คือ

                   1. Meaningful Work

                   2. People System

                   3. Supportive Relationships

                   4. Positive Organization Environment

3.1.2 การวัดระดับความผูกพันพนักงานต่อองค์กร (Engagement Measurement) คือ การสร้างตัววัดสองด้านคือ ด้านความรู้สึก (Emotional Engaged) และด้านการแสดงออกในการทำงานที่ได้ผล (Express Engaged)

3.1.3 ผลลัพธ์ของความผูกพัน (Engagement Results) ต้องทำให้เกิดผลงานที่ดี 3 ระดับคือ ระดับตัวบุคคล (Personal Performance) ระดับทีม (Team Performance) และระดับองค์กร (Company Performance)

          3.2 การทดสอบคุณภาพแบบสำรวจ

3.2.1 ที่ปรึกษานำแบบสำรวจเบื้องต้นไปให้ผู้บริหารของหน่วยงานทรัพยากรมนุษย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ภายนอก จำนวนรวม 3-5 ท่าน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องด้านเนื้อหาและภาษา (Content and Language Validity) รวมทั้งให้แน่ใจว่า ข้อคำถามหรือข้อความแต่ละข้อและรวมทุกข้อที่เป็นเครื่องมือทั้งชุด สามารถถามได้ตรงและครอบคลุมเนื้อหาตามที่ต้องการให้วัด และเนื้อหาที่ถามทั้งหมดเป็นตัวแทนของเนื้อหาทั้งหมดที่ต้องการให้ถาม โดยที่ปรึกษารวบรวมข้อแนะนำทั้งหมดแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขแบบสำรวจ

3.2.2 แบบสำรวจที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วจะนำกลับไปให้ผู้บริหารทั้ง 3-5 ท่านตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาค่าดัชนีของความสอดคล้องกัน (Index of Congruence) ของแบบสำรวจแต่ละข้อ

3.2.3 นำแบบสำรวจที่ผ่านการทดสอบค่าดัชนีของความสอดคล้องกันไปทดสอบความน่าเชื่อถือ (Reliability Test) โดยที่ปรึกษานำแบบสอบถามที่ปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้กับพนักงานที่ถูกคัดเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ท่าน เพื่อนำข้อมูลมาทดสอบหาค่าความน่าเชื่อถือของแบบสำรวจโดยใช้สูตรสัมประสิทธ์แอลฟ่าของ ครอนบาช (Cronbach’s Alpha - Coefficient) ผลการทดสอบแบบสำรวจต้องมีค่าความน่าเชื่อถือเป็นสากลในภาพรวมและรายปัจจัย

4. การสำรวจความผูกพันพนักงานต่อองค์กร

         ที่ปรึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในโครงการดำเนินการสำรวจความผูกพัน โดยจำแนกเป็นช่วงอายุ ช่วงอายุงาน กลุ่มวิชาชีพ หน่วยงานที่สังกัด และการแบ่งกลุ่มพนักงานในรูปแบบต่างๆ (Employee Segmentation) ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

5.  การสรุปวิเคราะห์ผลการสำรวจเชิงสถิติ โดย

5.1 ผลการสำรวจความผูกพันของพนักงาน และปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพันพนักงานภาพรวมจากตัวแบบความผูกพันที่ Fit กับองค์กร กล่าวคือ ปัจจัยสร้างความผูกพัน (Engagement Drivers) ที่ส่งผลต่อระดับความผูกพัน และความผูกพันส่งผลในการสร้างผลงาน นอกจากนั้น ยังมีรายงานถึงปัจจัยความผูกพันที่มีน้ำหนักการส่งผลต่อความผูกพันในระดับที่แตกต่างกันด้วย เช่น ปัจจัยสร้างความผูกพันกลุ่มสภาพแวดล้อมและการทำงานที่ดี มีค่าน้ำหนักในการส่งผลสูงสุด องค์กรอาจเลือกบางประเด็นเป็นพิเศษ ก็จะทำให้สามารถยกระดับความผูกพันได้สูงขึ้นรวดเร็ว เป็นต้น

5.2 ผลการสำรวจความผูกพันของพนักงานตามกลุ่มพนักงานที่จำแนกไว้ โดยจำแนกเป็นช่วงอายุ ช่วงอายุงาน กลุ่มวิชาชีพ หน่วยงานที่สังกัด และการแบ่งกลุ่มพนักงานในรูปแบบต่างๆ (Employee Segmentation)

5.3 จัดลำดับความสำคัญและค่าน้ำหนักของการส่งผล 5 อันดับแรก ที่องค์กรควรให้ความสำคัญ นำมาจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยประยุกต์ใช้หลักการและเครื่องมือของ Design Thinking ที่ใช้กับพนักงานและผู้บริหารประมาณ 30 คน เพื่อการจัดทำแผนขั้นละเอียด ซึ่งเป็นวิธีการที่ทางสากลเรียกว่าการสร้างประสบการณ์ที่ดีกับบุคลากร (Employee Experience)

5.4 จัดทำแผนยกระดับความผูกพันด้วยวิธี Employee Experience ตามหลักการ Design Thinking ซึ่งถูกพัฒนาจากภาคธุรกิจที่ต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีทุก Touch Point ให้กับลูกค้าที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่บุคลากรในองค์กร โดยการนำหลักการนี้มา Workshop กับพนักงานและผู้บริหารประมาณ 30 คนภายใน 1 วัน โดยที่กลุ่มเป้าหมายนั้นจะเป็นผู้นำโจทย์จากห้าโจทย์ดังกล่าวไปเก็บข้อมูลเชิงลึกตามกลุ่มพนักงานเป้าหมาย ที่ชี้นำจากการสำรวจความผูกพัน เพื่อนำผลมารวมกันทำให้ที่ปรึกษาจัดทำแผนยกระดับความผูกพันเสนอผู้บริหารได้แม่นยำถูกกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น และยังเป็นข้อมูลสะท้อนจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอีกด้วยส่วนการสร้างประสบการณ์ที่ดี (Employee Experience by Design) ดังนี้

EE-Design.jpg

ส่วนที่ 2 ทำการศึกษาระดับการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่สะท้อนค่านิยมองค์กร (Core Values) ของพนักงานในภาพรวม และการแบ่งกลุ่มพนักงานในรูปแบบต่างๆ (Employee Segmentation) เพื่อนำผลไปจัดทำแผนการเสริมสร้างค่านิยมองค์กร

ส่วนที่ 3 ทำการศึกษาระดับความพร้อมของพนักงานในการร่วมขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์องค์การเภสัชกรรม โดยสามารถสะท้อนออกมาเป็นความพร้อมขององค์กร และการแบ่งกลุ่มพนักงานในรูปแบบต่างๆ (Employee Segmentation) เพื่อนำผลไปจัดทำแผนการพัฒนาองค์กร

          การที่พนักงานแสดงพฤติกรรมที่เป็นความพร้อมในการร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กรยังไม่เพียงพอ เพราะนั่นเป็นการแสดงออกของบุคคลและทีมเท่านั้น ในทางปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กรสู่การปฏิบัติให้เกิดผลยังต้องการการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย

          การบริหารกลยุทธ์มีตัวแบบที่ใช้มากมาย ในที่นี้ขอนำเสนอตัวอย่างสำหรับองค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องการการบริหารและได้รับการประเมินผลตามเกณฑ์ของ SE-AM อยู่แล้ว จึงนำเกณฑ์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ร่วมกันที่เรียกว่า การประเมินความต้องการจำเป็นซึ่งจะให้ผลลัพธ์เป็น GAP ตามความต้องการใช้งานและความจำเป็นจริงๆ ในเฉพาะกลุ่มพนักงาน ทำให้สามารถนำผลไปใช้ได้ถูกจุดไม่เป็นการดำเนินการที่มากเกินไปกับบางกลุ่มจนเกิดต้นทุนสูง และน้อยเกินไปกับบางกลุ่มทำให้เสียโอกาส

 

ยกตัวอย่างวิธีการดำเนินการเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนดังนี้

          1. สร้างมาตรวัดหรือข้อคำถามที่จะใช้สำรวจพนักงานจากแต่ละมิติของการบริหารงานที่มีบุคลากรเป็นส่วนสำคัญในแต่ละด้านของเกณฑ์ SE-AM โดยที่ทำให้พนักงานทุกระดับเข้าใจ เข้าถึง และรับรู้ได้ว่าภารกิจของตนมีผลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรเพียงใด

           2. ปรับข้อคำถามหรือมาตรวัดในการวิจัยเชิงสำรวจ ส่วนพนักงานแสดงความพร้อมขับเคลื่อนกลยุทธ์ตามเกณฑ์ SE-AM โดยใช้หลักการวัดระดับด้วยการประเมินความต้องการจำเป็น เป็น 5 ระดับ ดังนี้                 

2.1 วัดระดับในเรื่องนั้นๆ มีความจำเป็นต่องานของแต่ละบุคคลที่มีผลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กรเพียงใด เป็น 5 ระดับคือ

                             1 หมายถึง น้อยมาก

                             2 หมายถึง น้อย

                             3 หมายถึง ปานกลาง

                             4 หมายถึง มาก

                             5 หมายถึง มากที่สุด

2.2 ในเรื่องเดียวกันนั้นถามถึงความมีอยู่จริง หรือสถานการณ์ปัจจุบันว่ามีมากเพียงใด โดยนำเกณฑ์การประเมินของ SE-AM มาปรับใช้เป็น 5 ระดับ ดังนี้

                             1 หมายถึง เป็นการทำตามสถานการณ์ ไม่มีระบบ

                             2 หมายถึง เริ่มมีแนวทางวางไว้ให้ทำได้ และมีการรับการถ่ายทอดให้เข้าใจ

                             3 หมายถึง เป็นระบบ มี PDPA ครบ

                             4 หมายถึง เป็นระบบ และมีการพัฒนาขึ้นจาก PDPA

                             5 หมายถึง เป็นระบบ มีการปรับปรุงต่อเนื่อง และมีนวัตกรรมเกิดขึ้นในระบบ

ตัวอย่างประเด็นสอบถาม ความจำเป็นต่องาน (I) ความมีอยู่จริง (D)

  1. องค์การฯ ให้โอกาสและให้ทรัพยากรในการทำงานนวัตกรรม

  2. จัดหาแหล่งความรู้เพื่อการเรียนรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

          3. สร้างข้อคำถามที่สะท้อนการดำเนินการตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์องค์กร ที่ง่าย พนักงานทุกระดับเข้าใจกลยุทธ์องค์กรแต่ละ SO โดยจัดทำเป็นระดับการประเมินด้านการถ่ายทอดแผนปฏิบัติตามเกณฑ์ของ SE-AM เป็น 5 ระดับ ดังนี้

  1.  หมายถึง มีการกำหนดถ่ายทอดแผนงานและกรอบเวลาดำเนินการ

  2.  หมายถึง ทำตามระดับ 1 และตรวจสอบความรู้ความเข้าใจทำให้พนักงานร่วมผู้ปฏิบัติได้

  3.  หมายถึง ทำตามระดับ 1-2 และเป็นภาพเดียวกันทั้งองค์กร ทำให้ทำงานร่วมกันได้ง่าย

  4.  หมายถึง ทำตามระดับ 1-2-3 โดยบูรณาการแผนงานทั้งองค์กรให้เป็นทิศทางเดียวกัน

  5.  หมายถึง ทำตามระดับ 1-2-3-4 และมีการนำข้อมูลไปปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างตัวชี้วัดเชิงพฤติกรรมที่แสดงถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์กร

  1. การสร้างแบรนด์สินค้าและสื่อสารให้บุคลากรเข้าใจ

  2. การสื่อสารแบรนด์สินค้าไปยังภายนอก

4. ตรวจสอบคุณภาพแบบสอบถามให้ได้ตามมาตรฐานสากล คือ

4.1 หาความตรงประเด็นโดยใช้ค่า Index of Item Objecttive Congruence : IOC โดยใช้ ผู้เชี่ยวชาญ 5 คนขึ้นไปจากภายในและภายนอก

4.2 ทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 30 คนเพื่อหาความเที่ยงตรง (Reliability)

5. จัดทำแบบสำรวจให้พร้อมใช้งานทั้งสองส่วน ตามข้อ 3-4

6. ดำเนินการสำรวจความพร้อมของพนักงานในการร่วมขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์ 

7. สรุปวิเคราะห์ผลการสำรวจเชิงสถิติ 

          8. นำข้อมูลที่เป็นผลการสำรวจและค่า PNI ที่แสดง GAP แจ้งตามกลุ่มพนักงาน โดยจำแนกเป็นช่วงอายุ ช่วงอายุงาน กลุ่มวิชาชีพ หน่วยงานที่สังกัด และการแบ่งกลุ่มพนักงานในรูปแบบต่างๆ (Employee Segmentation) เป็นรายงานที่ผู้บริหารสะดวกในการใช้งาน เช่น จากตัวอย่างข้างต้น GAP เรื่องการจัดหาแหล่งความรู้เพื่อการเรียนรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงมี GAP มากกว่า ควรดำเนินการก่อน เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

องค์กรที่สนใจดำเนินการสำรวจความผูกพันพนักงาน ค่านิยมองค์กร และความพร้อมของพนักงานในการขับเคลื่อนองค์กร สามารถนำส่งข้อมูลติดต่อเพื่อทีมงานได้ประสานกลับเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

bottom of page